ปฐมเหตุจากข้อความส่วนหนึ่งใน “ปสาทสูตร” ที่เกี่ยวข้องกับ “วิราคะ” ปสาทสูตร “... ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี มีประมาณเท่าใด วิราคะ คือ ธรรมเป็นที่บรรเทาความเมา นำเสียซึ่งความระหาย ถอนขึ้นด้วยดีซึ่งอาลัย ตัดซึ่งวัฏฏะ สิ้นไปแห่งตัณหา สิ้นกำหนัด ดับ นิพพาน บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่า สังขตธรรมและอสังขตธรรมเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในวิราคธรรม ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ก็ผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ฯ...” ที่มา : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาตอิติวุตตกะ ติกนิบาต วรรคที่ ๕ [๒๗๐]https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=6267&Z=6308 ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~ โยมกราบเรียนถามข้อสงสัยในวิราคธรรม ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~ โยม : ถ้า "วิราคธรรม" เป็นเลิศกว่า "อสังขตธรรม" ถ้าอย่างนั้น เราจะเอาวิราคะอย่างเดียวได้หรือไม่? แต่ก็ไม่เข้าใจ ถ้าจะให้ถึง "อสังขตธรรม" ก็ต้องทำวิราคะให้เกิดขึ้นก่อนไม่ใช่เหรอครับ? หลวงตา : วิราคะ คือ ใจหมดยางเหนียวต่อทั้ง "สังขตธรรม" และ "อสังขตธรรม" ซึ่งรวมทั้งธรรม และ นิพพานไม่อยู่ในความคิดคำนึงถึง "อสังขตธรรม" เป็น "นิพพานธาตุ" เพราะพ้นสังขารที่เป็นทุกข์แต่ถ้ายึด "อสังขตธรรม" หรือ "นิพพานธาตุ" ก็ยังเป็นทุกข์อยู่ แต่ถ้าใจเกิด “วิราคะ” จะหมดยางเหนียวต่อทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม ซึ่งธรรมทั้งมวล และ นิพพาน ก็ไม่ติดใจ วิราคธรรมจึงเหนือกว่าทั้งหมด "นิพพาน" คือ สิ้นผู้เสวย ไม่ยึดถือทั้งสังขาร ไม่ยึดถือแม้แต่ความเงียบ... ความสงบ... ความสงัด... ความไม่ปรากฏอะไร... ที่เรียกว่า "วิสังขาร" พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "วิราคธรรม" เป็นยอดแห่งธรรมที่เหนือกว่า "สังขตธรรม" และ "อสังขตธรรม" คือ ความไม่ยึดถือทั้งสังขาร และ วิสังขาร ไม่ยึดถืออะไร... เป็น "ปัจจัตตัง" รู้แก่ใจว่า... บัดนี้สิ้นผู้เสวยแล้ว ไม่ยึดถือใด ๆ ทุกอย่างมีอยู่อย่างที่มี... อย่างที่เป็น... แต่ "ผู้ยึดถือ" ไม่มี "สังขาร"... ก็ปล่อยให้สังขารทิ้งไว้ตามสภาพ"ใจที่ไม่สังขาร" (วิสังขาร)... ก็ปล่อยทิ้งใจที่ไม่สังขาร (วิสังขาร) ไว้โดยสภาพ แต่เป็น "วิราคธรรม" คือ รู้แจ้งแก่ใจว่า ไม่ยึดถือใด ๆ เลย "วิราคะ" แปลว่า หมดยางเหนียว...หมดยางเหนียวต่อ "สังขาร" ต่อโลกหมดยางเหนียวต่อ "วิสังขาร" ต่อธรรมชาติที่ไม่สังขาร มันจึงไม่เคยคิดถึงนิพพาน ไม่ได้คิดถึงสังขาร และ ไม่ได้คิดถึงวิสังขาร ถ้ายังคิดถึงคำนึงถึง... ก็ยังโหยหาถ้ายังโหยหา ก็แสดงว่า... ยังไม่อิ่ม ต้องอ่านใจตัวเองให้ขาดว่า... สิ้นผู้เสวยจริง ๆ "สิ้นผู้เสวย" ก็จะไม่คิดถึง... ไม่คำนึงถึง... ไม่ระลึกถึง... ถ้ายังคำนึงถึง ระลึกถึงสิ่งใดด้วยใจที่คิดถึง นั่นแสดงว่า... ยังยึดถืออยู่! หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโยโอวาทธรรมจากสนทนาธรรมกับคณะศิษย์วันที่ 3 กันยายน 2563 ฟังไฟล์เสียงที่เกี่ยวข้องเพื่อความเข้าใจเพิ่มเติม 200912B-1 สัจธรรมความจริงย่อมไม่ดิ้นรนhttps://youtu.be/vCjPGKxoj28 ~~~~~~~~~~~~~~~